เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2564 ผศ.ดร. ประเสริฐ ทองหนูนุ้ย คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการประมง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย พร้อมด้วยคณะผู้วิจัย ลงพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะสุกร องปะเหลียน จ.ตรัง เพื่อส่งมอบแผนการฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งในพื้นที่เกาะสุกร ให้แก่ นางราตรี จิตรหลัง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะสุกร คณะผู้บริหาร คณะทำงาน เพื่อนำไปขับเคลื่อนใช้ประโยชน์ในการพัฒนาเกาะสุกรในลำดับต่อไป โดย การจัดทำแผนการฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งในพื้นที่เกาะสุกร ได้ดำเนินการภายโครงการวิจัย เรื่อง การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งของเกาะสุกร จังหวัดตรัง นำไปสู่ความยั่งยืน ประจำปี 2563 โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาทางคณะทำงานได้รับความร่วมมือของสมาชิกชุมชน และ อบต. อย่างดียิ่ง
นางราตรี จิตรหลัง กล่าวว่า สำหรับเกาะสุกร ประกอบด้วย 4 หมู่บ้าน หมู่ 1 บ้านเสียมไหม หมู่ 2 บ้านแหลม หมู่ 3 บ้านทุ่ง และหมู่ 4 บ้านหาดทรายทอง เกาะสุกร หรือที่เรียกกันว่า เกาะหมู เป็นตำบลหนึ่งของ อ.ปะเหลียน จ.ตรัง ตัวเกาะขนานกับแนวชายฝั่ง และห่างจากฝั่งเพียง 3 กิโลเมตร สภาพตัวเกาะประกอบด้วยภูเขา สวนยางพารา ป่าโกงกาง นาข้าว และทะเล ทำให้ชาวบ้านบน เกาะสุกร มีอาชีพประมง ทำสวนยาง และเกษตรกรรม นอกจากนี้ เมื่อหมดฤดูนาข้าวในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน ก็จะเห็นไร่แตงโมพันธุ์หวานแดงอร่อย ออกผลเต็มทั่วท้องทุ่ง เพราะเป็นสินค้าขึ้นชื่อของ เกาะสุกร
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่า เกาะสุกร จะมีชายหาดที่ไม่สวยงามเหมือนกับเกาะอื่น ๆ ในจังหวัดตรัง แต่ก็มีกิจกรรมดี ๆ มากมาย ให้นักท่องเที่ยวที่เดินทางเที่ยว เกาะสุกร ได้สนุกสนาน ไม่ว่าจะเป็น การพักผ่อนชายหาด การเช่าเรือไปดำน้ำที่ เกาะเหลาเหลียง และ เกาะตะเกียง เพื่อชมปะการังเจ็ดสี ปะการังนานาชนิด และปลานีโม่ ซึ่งเหมาะสำหรับการศึกษาเรียนรู้เชิงนิเวศน์ทางทะเล การปั่นจักรยานชมวิวทิวทัศน์และการดำรงชีวิตของชาวบ้าน โดยเส้นทางจะผ่านภูเขา สวนยางพารา สวนมะม่วงหิมพานต์ ป่าโกงกาง ป่าโปร่ง ไร่แตงโม ทุ่งนา ซึ่งเป็นอีกสถานที่หนึ่งที่ควรไปสัมผัส เพราะจะได้ชื่นชมกับบรรยากาศท้องทุ่งนาข้าวเขียวขจี พร้อม ๆ กับสูดความหอมของกลิ่นขวัญข้าวช่วงตั้งท้อง หรือจะแวะเพลิดเพลินกับฝูงวัว ควาย ฝูงนกเป็ดน้ำ นกกระยาง นกกวัก ปิดท้ายด้วยไปชมฝูงปูก้ามดาบ ปูหลากสี ฝูงนาก สัตว์ป่าชายเลนก็สามารถทำได้