ผศ.โกสินทร์ พัฒนมณี รองอธิการบดีประจำวิทยาเขตตรัง มทร.ศรีวิชัย ให้ความสำคัญ ในบทบาทหน้าที่การให้บริการวิชาการแก่สังคมด้วยนวัตกรรมสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยการสนับสนุนงานวิจัยสิ่งประดิษฐ์ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อสังคมหรือสร้างมูลค่าเชิงพาณิชย์ ทุนสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กรอบงานชุมชนนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนโครงการวิจัยการพัฒนาระบบการเลี้ยงหอยนางรมแบบความหนาแน่นสูงเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชนลุ่มน้ำปะเหลียน ตำบลวังวน อำเภอกันตัง จังหวัดตรังภายใต้แผนงานนวัตกรรมพัฒนาพื้นที่เพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานรากและหนุนเสริมผู้ประกอบการชุมชนในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำปะเหลียน จังหวัดตรัง และลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา จังหวัดสงขลา
ดร.สุพัชชา ชูเสียงแจ้ว อาจารย์ประจำสาขาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์ประมง คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการประมง ติดตามผลการดำเนินงาน การพัฒนาระบบการเลี้ยงหอยนางรมแบบความหนาแน่นสูง เพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชนลุ่มน้ำปะเหลียน ตำบลวังวน อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง ด้วยวิธีการเลี้ยงหอยนางรมในรูปแบบการเลี้ยงในตะกร้าและตะแกรงพลาสติก 3 ชั้น เพื่อเพิ่มปริมาณการเลี้ยงในแหล่งน้ำธรรมชาติ(กระชัง)ทำให้ได้ ปริมาณหอยนางรมเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิมถึง 7 เท่าหรือประมาณ 7,200 ตัวต่อ 1 กระชัง จากเดิมที่เลี้ยงหอยนางรมได้จำนวน 1,000 – 2,000 ตัว ต่อกระชัง
ด้านนายเลิศ โรยอุตระ และนายสมยศ ณะสม เกษตรกรผู้เลี้ยงหอยนารมชุมชนบ้านแหลม อ.กันตัง จ.ตรัง กล่าวว่าการเลี้ยงหอยนางรมต้องใช้ระยะเวลาในการเลี้ยงประมาณ 1-1.5 ปี จะได้หอยนางรมที่จำหน่ายในท้องตลาด ราคาตัวละ 10-20 บาท จากการพัฒนาระบบการเลี้ยงหอยนางรมแบบความหนาแน่นสูงทำให้ได้ปริมาณหอยนางรมเพิ่มมากและมีอัตราการรอดสูงอีกทั้งยังไม่มีสารเคมีตกค้างสร้างความพึงพอใจให้กับชาวเกษตรกรผู้เลี้ยงหอยนารมบ้านแหลมเป็นอย่างมาก จากผลการดำเนินงานจึงได้มีการวางเป้าหมายเพื่อพัฒนาขยายพื้นที่ ในการเลี้ยงหอยนางรมไปยังชุมชนต่าง ๆ ซึ่งได้ทำการศึกษาระบบนิเวศและคุณภาพของน้ำ ที่เอื้อต่อการเลี้ยงหอยนางรมเพื่อส่งเสริมและสร้างรายได้ให้กับชุมชนในจังหวัดตรัง เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา
Fanpage คณะฯ : https://www.facebook.com/fishtechRUTS