วันที่ 29 พฤศจิกายน 2562 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ทองหนูนุ้ย คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการประมง ในฐานะหัวหน้าโครงการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่อันดามันตอนล่างบนฐานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รายงานความคืบหน้าการดำเนินโครงการ ต่อ นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จากการที่ได้รับทุนสนับสนุนโครงการ "การพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่อันดามันตอนล่าง บนฐานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง" จากฝ่ายบูรณาการงานวิจัยเพื่อพัฒนาเชิงพื้นที่ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งมีระยะเวลาดำเนินโครงการระยะที่ 1 เป็นเวลา 10 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2562 ถึงวันที่ 30 พฤษภาคม 2563 นั้น โดยมีแผนดำเนินการต่อเนื่องในระยะต่อไปเป็นเวลาอย่างน้อย 2 ปี พื้นที่ศึกษาครอบคลุม 3 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดกระบี่ จังหวัดตรัง และจังหวัดสตูล เพื่อจัดทำระบบข้อมูลฐานสำหรับช่วยตัดสินใจเกี่ยวกับพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่อันดามันตอนล่าง บนฐานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งข้อมูลดังกล่าวหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง สามารถนำไปใช้เพื่อสนับสนุนการจัดทำยุทธศาสตร์พัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ชายฝั่งอันดามันตอนล่าง นอกจากนี้ หน่วยงานภาครัฐและองค์กรชุมชนท้องถิ่นยังสามารถนำข้อมูลไปใช้ประกอบการบริหารจัดการ และใช้ประโยชน์ทรัพยากรชายฝั่งอย่างเหมาะสมและคุ้มค่านั้น ก็มีการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องและได้รับผลการตอบรับในทางที่ดีขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุด ในระหว่างวันที่ 25-26 พฤศจิกายน 2562 ณ โรงแรมธรรมรินทร์ธนา อำเภอเมือง จังหวัดตรัง ที่ผ่านมา คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการประมง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง ได้กำหนดจัดประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำระบบข้อมูลฐาน สำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่อันดามันตอนล่างบนฐานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อระดมความคิดเห็นการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนความรู้ และจัดเตรียมข้อมูลด้านตัวชี้วัดความยั่งยืน เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่อันดามันตอนล่างบนฐานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ตลอดจนเพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ (partnership management) และสร้างความไว้วางใจ (trust) ระหว่างภาคีภาคส่วนต่าง ๆ อันจะนำไปสู่การจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ชายฝั่งอันดามันตอนล่างร่วมกัน โดยมี นายขจรศักดิ์ เจริญโสภา รองผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เป็นประธานในการเปิดประชุม และได้กล่าวว่า การวิจัยถือเป็นภารกิจที่สำคัญของสถาบันอุดมศึกษา เพราะผลผลิตจากการวิจัยจะนำไปสู่การพัฒนาความก้าวหน้าทางวิชาการ ปรับปรุง และเปลี่ยนแปลงให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ ๆ อันจะเป็นประโยชน์ทางด้านวิชาการ ที่สามารถนำไปใช้ในการพัฒนาประเทศต่อไป
Fanpage คณะฯ : https://www.facebook.com/fishtechRUTS